Wimax คืออะไร?

             WiMAX (World wide Interoperability for Microwave Access) เป็นเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลดิจิทัลความเร็วสูงที่ถูกพัฒนาเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ไร้สาย (Broadband Wireless Access) โดยใช้คลื่นไมโครเวฟสามารถให้บริการด้วยรัศมีระยะไกล สามารถสื่อสารข้อมูลได้ทั้งแบบจุดต่อจุด (Point-to-point) ด้วยระดับความเร็วข้อมูล 72 Mbps ที่ระยะทาง 50  กิโลเมตร หรือแบบกระจายสัญญาณในลักษณะจากจุดเดียวไปยังหลายจุด  (Point-to-multipoint) ที่ระดับความเร็วข้อมูลเดียวกัน ได้พร้อมๆ กัน  โดยมีความสามารถรองรับการทำงานในแบบ Non-Line-of-Sight  หมายถึงสามารถทำงานได้แม้กระทั่งมีสิ่งกีดขวาง เช่น ต้นไม้ หรือ อาคารได้เป็นอย่างดี  แต่ด้วยระยะทางลดลงเหลือประมาณ  6  กิโลเมตร หรือแบบที่เครื่องลูกข่ายอยู่ในสภาวะเคลื่อนที่ (Mobile) ด้วยความเร็วของข้อมูลที่ลดหลั่นลงไป ด้วยความเร็วข้อมูลที่สูงกว่า 3G ถึงเกือบ 4 เท่า WiMAX จึงเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะมากสำหรับการสื่อสารข้อมูล อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์ผ่านไอพี วีดิโอ และไอพีทีวี ด้วยระดับความเร็ว 72 Mbps ทำให้สามารถส่งวีดิโอคุณภาพดี แบบ MPEG4  ส่งผลให้ WiMAX สามารถช่วยให้ผู้ที่ใช้งาน สามารถขยายเครือข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้กว้างขวางด้วยรัศมีทำการถึง 31  ไมล์ หรือประมาณ 48  กิโลเมตร  และยังสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์มาตรฐานชนิดอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้เป็นอย่างดี จากคุณสมบัติดังกล่าว WiMAX จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ Wireless Metropolitan Area Network (WMAN)
วิวัฒนาการของ WiMAX
                 การสื่อสารโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ (Microwave transmission) แบบที่ใช้งานใน WiMAX นี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมานานแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใช้เป็นระบบสื่อสารหลักสำหรับสื่อสารข้อมูลปริมาณมากๆ ระหว่างสองจุดใดๆ  (point-to-point)  การสื่อสารไมโครเวฟใช้คลื่นความถี่สูงมากในช่วง 800 MHz ถึง 60 GHz มีการกระจายคลื่นแบบตรงไม่สะท้อนชั้นบรรยากาศ เหมาะกับการสื่อสารผ่านดาวเทียม แต่เมื่อใช้ที่ภาคพื้นดินจะต้องใช้จานเสาอากาศของทั้งสองจุดสามารถเห็นเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน (line of sight : LOS) ซึ่งทั้งสองจุดจะต้องมีระยะห่างไม่เกินประมาณ 50 กิดลเมตร มิฉะนั้นแล้วส่วนโค้งของผิวโลกจะบังเส้นทางเดินของคลื่น ถ้าจะสื่อสารให้ไกลกว่านี้จะต้องใช้สถานีทวนสัญญาณมาช่วย ระบบนี้จึงถือเป็นต้นแบบสำหรับการสื่อสารแบบจุดต่อจุดของเทคโนโลยี WiMAX  แบบ IEEE 802.16d ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบประจำที่ (Fixed wireless service) แต่ได้รับการการพัฒนาให้ใช้เทคนิคการมอดูเลชันและการเข้ารหัสชั้นสูง

                 ในช่วงปี 1990 ได้มีการนำคลื่นไมโครเวฟในย่านความถี่  2-3 GHz มาใช้ในการกระจายเสียงสัญญาณวิทยุโทรทัศน์โดยใช้คลื่นไมโครเวฟระบบ MMDS (Multipoint Microwave Distribution System หรือ Multipoint Multichannel Distribution System) และนอกจากนั้นยังมีการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลแบบภาคพื้นดิน (Terrestrial Digital TV : DVB-T) ในปี ค.ศ. 1998 ใช้เทคนิคการมอดูเลชันแบบ COFDM (Coded Orthogonal Frequency Division Multiplexing) โดยการแบ่งและส่งสัญญาณผ่านคลื่นพาหะขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก สามารถทนทานต่อการรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะจากการผสมของสัญญาณที่เดินทางหลายเส้นทาง (Multi-paths) อันเป็นผลจากการสะท้อนกับอาคารและสิ่งกีดขวาง

                 เทคโนโลยี OFDM หรือ Orthogonal Frequency Division Multiplexing ถือได้ว่าเป็นต้นแบบและถูกต่อยอดมาใช้ใน WiMAX  จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยี  WiMAX ในมาตรฐาน IEEE 802.16e ที่ถูกรองรับในปี ค.ศ.2005 ให้เป็นการสื่อสารแบบกระจายสัญญาณ (Point-to-multipoint) และเป็นบรอดแบนด์ไร้สายแบบเคลื่อนที่ได้ (Mobile wireless Broadband Access)

WiMAX บนมาตรฐาน IEEE 802.16
                 IEEE 802.16 หรือ WiMAX จัดเป็นการสื่อสารไร้สายชนิดหนึ่งอยู่ในกลุ่มของ Wireless Metropolitan Area Network (WMAN) หมายถึง เทคโนโลยีการเข้าถึงไร้สายในพื้นที่เขตเมืองหรือพื้นที่ขนาดใหญ่ มีระยะทางตั้งแต่ 10 ถึง 50 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับคลื่นความถี่ใช้งานและมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่ความเร็วสูงถึง 15-50 Mbps โดยในปี ค.ศ. 1999 คณะทำงาน IEEE 802.16 ได้กำนิดขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐานสำหรับ Broadband Wireless Access Working Group อยู่ภายใต้องค์กร IEEE Standard Association (IEEE-SA) ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิจัยและพัฒนา จากหน่วยงานงานภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกร่วมกันพัฒนาต่อเนื่องมา และได้รับการรับรองให้เป็นมาตรฐานดังนี้.-
                          


                                  รูปที่ 2 มาตรฐานการสื่อสารแบบ Broadband Wire Access                 1. IEEEE 802.16 เป็นมาตรฐานแรกที่ได้รับรองในปี ค.ศ. 2001 ออกแบบให้เป็นมาตรฐานการนำ LMDS (Local Multipoint Distribution Systems) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับ Fixed BWA ที่ให้ระยะทางการเชื่อมโยง 1.6-4.8  กิโลเมตร เป็นมาตรฐานที่สนับสนุนการทำงานแบบ Line of Sight (LOS)  คือต้องไม่มีสิ่งกีดขวางระหว่างเครื่องรับเครื่องส่งเท่านั้นจึงจะสามารถทำงานได้ โดยมีการใช้งานในช่วงความถี่สูงมากคือ 10-66 GHz
                 2. IEEE 802.16a เป็นมาตรฐานที่ออกในปี ค.ศ. 2002 เป็นการแก้ไขปรับปรุงคุณสมบัติ IEEE 802.16 โดยใช้งานที่ความถี่ 2-11 GHz และยังรองรับการทำงานแบบ Non-Line-of-Sight (NLOS) นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถขยายระบบเครือข่ายเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงได้อย่างกว้างขวาง ด้วยรัศมีทำการไกลถึง  48  กิโลเมตร  และมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดถึง 75 mbps ทำให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อใช้งานระบบเครือข่ายของผู้ให้บริการที่ใช้สายประเภท T1 (T1-type) ได้หลายราย หรือใช้รองรับการเชื่อมต่อแบบ DSL ตามบ้านเรือนที่พักอาศัยได้หลายครัวเรือนได้พร้อมกันโดยไม่เกิดปัญหาการใช้งาน
                 3. IEEE 802.16-2004 เป็นมาตรฐานที่ออกในปี ค.ศ. 2004 โดยได้รวบรวมมาตรฐาน IEEE 802.16 ทั้งหมด ไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
                 4. IEEE 802.16e เป็นมาตรฐานที่ออกในปี ค.ศ.2005 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการพัฒนามาจากมาตรฐาน IEEE 802.16-2004 เพื่อรองรับการทำงานแบบ Mobile BWA โดยให้สนับสนุนการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พกพาประเภทต่างๆ เช่น อุปกรณ์พีดีเอ โน้ตบุ๊ก เป็นต้น  

ลักษณะเด่นของ WiMAX 
                 1. สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับพื้นที่ที่ห่างไกลที่เทคโนโลยีเข้าไปไม่ถึง ตลอดจนสายเคเบิลไม่สามารถลากไปไม่ถึงได้เป็นอย่างดี
                 2. ประหยัดสำหรับการขยายเครือข่ายในเมืองที่มีอยู่แล้ว  เนื่องจากไม่ต้องลงทุนขุดถนนเพื่อวางสายเคเบิ้ลใยแก้วใหม่ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครือข่ายในแบบวางสายสัญญาณที่ใช้งานกันอยู่
                 3. ตอบสนองความต้องการการใช้งานบรอดแบนด์ในเมืองที่มีพื้นที่แออัดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
                 4. WiMAX ช่วยให้ Operator ต่างๆ สามารถจัดสรรงานบริการที่มีความเร็วสูงเทียบเท่าระบบเครือข่ายแบบใช้สายได้  โดยใช้เวลาการติดตั้งน้อย ราคาถูกกว่ามาก  และยังช่วยให้มีการจัดเตรียมการใช้งานระบบสื่อสารความเร็วสูงในรูปแบบตามความต้องการได้ในทันทีทันใด โดยรูปแบบนี้เหมาะสำหรับการทำงานในแบบชั่วคราว อาทิเช่น การจัดนิทรรศการ การจัดงานประชุม การจัดแสดงสินค้า  เป็นต้น
                 5. รองรับการใช้งานในแบบที่ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา  เหมาะสำหรับอุปกรณ์ในแบบพกพาสำหรับการเดินทาง ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานยังสามารถสื่อสารได้โดยให้คุณภาพในการสื่อสารที่ดี  และมีเสถียรภาพขณะใช้งาน  แม้ว่ามีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา

WiMAX ในประเทศไทย
                 สำหรับ WiMAX ในประเทศไทย โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่และการกำหนดระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยี WiMAX  เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายในประเทศไทย ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 โดยทาง กทช. ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศึกษาแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี  WiMAX  ในเบื้องต้น ตามรายงานการศึกษาแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี WiMAX  ในประเทศไทย

                 ในขณะเดียวกัน กทช.ได้มีประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แผนความถี่วิทยุ Broadband Wireless Access (BWA) เพื่อการทดลองหรือทดสอบ (รวมถึง WiMAX ) โดยประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124  ตอนพิเศษ 92 ง  ลงวันที่ 3  สิงหาคม 2550 โดยมีสาระสำคัญดังนี้.

1. ย่านความถี่ที่ใช้งาน มี 4 ย่านดังนี้ 
                 - 2300 - 2400 MHz
                 - 2500 - 2520 และ 2670 - 2690 MHz
                 - 3300 -  3400 MHz
                 - 3400 - 3700 MHz 

2. เงื่อนไขการใช้งานความถี่วิทยุ
                 - การทดลองหรือทดสอบต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว
                 - การทดลองหรือทดสอบสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ที่เป็นมาตรฐานสากล
                 - เครื่องวิทยุคมนาคมที่นำมาทดลองหรือทดสอบ ต้องได้รับใบอนุญาตตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติประกาศกำหนด
                 - การทดลองหรือทดสอบในย่านความถี่วิทยุที่ได้ถูกจัดสรรให้กับกิจการอื่นแล้ว ผู้ทดลองหรือทดสอบต้องแจ้งถึงแผนการทดลองหรือทดสอบและผลกระทบที่คาดว่าจะ เกิดแก่กิจการดังกล่าวให้ผู้ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจะแจ้งรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรร ความถี่วิทยุให้ทราบ
                 - การทดลองหรือทดสอบใดที่ก่อให้เกิดการรบกวนอย่างรุนแรงต่อกิจการที่ได้รับการ จัดสรรความถี่วิทยุอยู่ก่อนแล้ว หรือในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการรบกวนการใช้ความถี่วิทยุจะต้องหยุดการทดลองหรือทดสอบทันที เว้นแต่กรณีที่ได้มีข้อตกลงร่วม หรือได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุสำหรับกิจการดัง กล่าว ว่าสามารถทดลองหรือทดสอบด้านการรบกวนระหว่างกิจการ หรือการอยู่ร่วมกันระหว่างกิจการ
                 - การทดลองหรือทดสอบตามบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีการประสานงานชายแดน
                 - เมื่อการทดลองหรือทดสอบเสร็จสิ้น ต้องรายงานผลการทดลองหรือทดสอบ รวมถึงการรบกวนระหว่างกิจการ เงื่อนไขการอยู่ร่วมกันระหว่างกิจการ และประสิทธิภาพการใช้ความถี่วิทยุ  ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

                 กทช.ได้มีมติที่ประชุม ครั้งที่ 44/2550 เมื่อวันที่ 22  พฤศจิกายน  2550 อนุญาตให้มีการใช้ความถี่เพื่อทดลองบริการ Broadband Wireless Access (BWA) ซึ่งรวมถึง WiMAX และต่อมาได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนทำการทดลองทดสอบเพื่อให้บริการ WiMAX ในหลายพื้นที่ เพื่อเป็นการดูประสิทธิภาพในทางเทคนิคและผลกระทบจากการใช้งาน และจะได้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนคลื่นความถี่วิทยุในกิจการ  Broadband Wireless Access  ทั้งนี้ได้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว (WiMAX) ให้กับบรรดาบริษัทเอกชน จำนวน 18 ราย  ได้แก่ บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด, บริษัท ทรานส์ แปซิฟิก เทเลคอม (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) และ  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรูมูฟ จำกัด, บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ จำกัด, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท แพลนเน็ตคอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเค ชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท อีซี่ ซิสเต็ม เทเลคอม จำกัด, บริษัท วิน วิน เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท มิลคอมซิสเต็มซ์ จำกัด โดยมีระยะเวลาทดสอบ 90-180 วัน ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้มีประกาศให้ยุติการจัดสรรความถี่เพื่อทดสอบทดลอง BWA ชั่วคราวเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 หลังจากทดลองเสร็จจะนำผลการทดลองมาประกอบการตัดสินใจจัดทำแผนความถี่วิทยุสำหรับ Broadband Wireless Access (BWA) เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาต BWA หรือที่เรียกกัน WiMAX

                 ปัจจุบันแม้ว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ยังไม่เปิดการอนุมัติใบอนุญาต WiMAX เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ แต่ได้มีการอนุญาตให้ใช้ความถี่ 2.5 GHz สำหรับติดตั้งเทคโนโลยี WiMAX  ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระจายโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง (USO) ในพื้นที่ 4 จังหวัด ใน 4 โครงการ อาทิเช่น โครงการนำร่องเทคโนโลยี WiMAX ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  กระทรวงสาธารณสุข  และ กทช.  โดย กทช. สนับสนุนงบประมาณ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ การทดลอง WiMAX  ดังกล่าว จะช่วยให้แพทย์ที่โรงพยาบาลกับเจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัยสามารถปรึกษาหารือและประสานงานกันได้ทันทีทันใด สำหรับโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการหนึ่งปี ตั้งแต่ธันวาคม 2551 ถึง พฤศจิกายน 2552 และจะมีการประเมินโครงการเพื่อเสนอต่อ กทช. ต่อไป  และอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการศูนย์ต้นแบบทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก กทช. ทีทีแอนด์ที และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  โดยให้บริการ WiMAX กับโรงเรียน 21 แห่งที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนำ WiMAX ไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาทิ การใช้ห้องสมุดดิจิตอลและห้องเรียนเสมือนจริง เป็นต้น ทั้งนี้  WiMAX ยังช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา WiMAX ช่วยให้ครูและนักเรียนที่อยู่ไกลกันสามารถเห็นหน้าเห็นตากันและยังช่วยให้ครูสามารถส่งสื่อการเรียนการสอนแบบดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 รูปที่6 สรุปข้อมูลการใช้ความถี่วิทยุในโครงการ USOตัวอย่างการทดลองทดสอบ WiMAX ในประเทศไทย
                 1. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เริ่มทำการทดสอบให้บริการไวแมกซ์ โดยติดตั้งเสาสัญญาณในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน  3  แห่ง คือ ตำบลข่วงสิงห์, ต้นพะยอม และช้างคลาน ใช้คลื่นความถี่  2.3  และ  2.5         กิกะเฮรตซ์ ใช้อุปกรณ์ของบริษัทแซดอีที, โมโตโรล่า และบริษัท อินเทล จากการทดสอบ สามารถให้บริการอินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ไร้สาย มีรัศมีจากเสาสัญญาณประมาณ  5  กิโลเมตร จากปกติไวแมกซ์จะมีรัศมีให้บริการประมาณ 30 กิโลเมตร แต่ถ้าอยู่ในเขตเมือง มีตึกรัศมีอาจลดลงเหลือประมาณ 10  กิโลเมตร และมีบางช่วงมีคลื่นความถี่ที่มีการใช้งานอยู่เดิม รบกวนการให้บริการเป็นระยะ

                 2. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับบริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด ดำเนินการทดลองทดสอบให้บริการไวแมกซ์ ที่ย่านความถี่ 2.5 กิกะเฮรตซ์ โดยเลือกพื้นที่ทดสอบที่จังหวัดชลบุรีเพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตค่อนข้างสูง และมีกลุ่มลูกค้าผู้ใช้งานหลากหลาย สามารถทำการทดสอบได้หลายรูปแบบและมีความพร้อมทางด้านโครงข่ายพื้นฐานและมีสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องการเชื่อมโยงระบบสื่อสัญญาณ โดยใช้อุปกรณ์ระบบ Wireless Broadband ยี่ห้อ MOTOROLA รุ่น Expedience ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ได้ติดตั้งสถานีฐานเพื่อทดสอบในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี จำนวน 3 แห่ง คือที่ศูนย์โทรคมนาคมชลบุรี ชุมสายเขาบางทราย และอาคารที่พักอาศัยบริเวณอำเภอเมือง และอุปกรณ์ลูกข่าย จำนวน 22 ชุด แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ แบบที่ใช้ภายในอาคาร หรือ Indoor CPE จำนวน10 ชุด และ แบบภายนอกอาคาร หรือ Outdoor CPE จำนวน 5 ชุด เพื่อติดตั้งทดสอบที่โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานศึกษา ร้านค้า บ้านพักอาศัย แบบพีซีไอ การ์ด หรือ PCI Card จำนวน 5 ชุด เพื่อติดตั้งให้ใช้งานกับโน้ตบุกที่สถานศึกษา สำนักงานที่ดิน บริษัทเอกชน และแบบชนิดติดรถยนต์ หรือ Mobile CPE จำนวน 2 ชุด เพื่อใช้กับรถตำรวจ โดยที่รูปแบบบริการที่ทำการทดสอบ เช่น บริการวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์, บริการโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต, ทีโอทีเน็ตคอลล์ และ วีโอไอพี, บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง เป็นต้น มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร รองรับลูกค้าได้สูงสุด 50-100 รายต่อสถานีฐาน มีความเร็วดาวลิงค์สูงสุด 8 เมกะบิตต่อวินาที ผลการทดสอบการใช้อุปกรณ์ CPE (รุ่น RSU) ในลักษณะ Indoor

                 3. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)ได้ทดสอบการใช้งานเทคโนโลยีไวแมกซ์ ที่ย่านความถี่ 2.5 กิกะเฮิรตซ์  ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ มีความหลากหลายในการใช้งานเทคโนโลยี คือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานหนาแน่น และพื้นที่ด้านเปิดโล่งเพื่อการทดสอบพื้นที่ให้บริการ โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท อินเทล คอร์ป ผู้ผลิตชิพรายใหญ่ของโลก ผลการทดสอบสอดคล้องกับตามมาตรฐานเทคโนโลยี   ไวแมกซ์  โดยอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลสูงสุด (Downlink) 10 เมกะบิตต่อวินาที และความเร็วในการอัพโหลดข้อมูล (Uplink) อยู่ที่ 4 เมกะบิตต่อวินาที 

บทสรุป
                 จะเห็นได้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้สายเข้ามามีบทบาทและมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ความต้องการการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงบรอดแบนด์ อื่นๆ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั้งในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล การลงทุนสร้างโครงข่ายพื้นฐานแบบเดิมในบางพื้นที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับการนำเทคโนโลยี WiMAX ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบรอดแบรนด์ไร้สาย มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูล ได้สูงสุดถึง 75 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) มีรัศมีทำการไกลสุดประมาณ 48  กิโลเมตร มีความสามารถในการรับส่งสัญญาณความเร็วสูง และครอบคลุมพื้นที่ระยะไกล   ผ่านเครือข่ายไร้สาย โดยมิต้องเดินสายโทรศัพท์หรือสายเคเบิลใหม่ นอกจากนั้น WiMAX ยังได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพของคุณภาพการให้บริการ (QoS) สามารถรองรับการใช้งานทั้งภาพและเสียงได้ อีกทั้งในเรื่องความปลอดภัย ยังได้เพิ่มคุณสมบัติความเป็นส่วนตัว(privacy) และการพิสูจน์ตัวจริง (authentication) ก่อนที่จะเข้าออกเครือข่ายและข้อมูลต่างๆ ทำให้การส่งข้อมูลบนมาตรฐาน WiMAX มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจากประโยชน์ดังกล่าวของเทคโนโลยี   WiMAX ทำให้การประยุกต์ใช้งานเพื่อลดช่องว่าง ของเทคโนโลยีในพื้นที่ห่างไกลที่เทคโนโลยีเข้าไปไม่ถึง ตลอดจนตอบสนองความต้องการในการใช้งานบรอดแบนด์ในเมือง ที่มีพื้นที่แออัดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการติดตั้งเครือข่ายแบบวางสายสัญญาณที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : http://www.vcharkarn.com/varticle/41947

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น